อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
ประวัติความเป็นมา
     อำเภอจอมบึงมีอายุครบ ๑๑๙ ปี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ซึ่งจากประวัติที่ผ่านมา ในวันที่ ๑๙-๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ เป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสถ้ำจอมพล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ (ร.ศ. ๑๑๔) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอจอมบึง

     วันที่ ๑๙ ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงม้าพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินจากค่ายหลวงถึงที่ประทับร้อนปากช่องทุ่งพิทาบเสด็จประทับเสวยเช้า เวลาเช้า ๔ โมงเสด็จจากที่ประทับร้อนถึงค่ายหลวงที่ประทับแรมตำบลจอมบึง (บริเวณที่ว่าการอำเภอจอมบึงกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอจอมบึงในปัจจุบัน)

     วันที่ ๒๐ ธันวาคม เสด็จพระราชดำเนินที่พักพระสงฆ์ และเขากลางเมืองประทับเสวยเช้าที่เชิงเขาและทรงพระราชดำเนินลงประพาสในถ้ำบนเขากลางเมืองนั้น ทรงพระราชดำริที่จะให้มีเครื่องหมายระลึกถึงการเสด็จพระราชดำเนิน จึงทรงพระอักษรไว้ที่ปากถ้ำ คือ จ ป ร ๑๑๔ พระราชทานนามถ้ำว่าถ้ำจอมพลโปรดเกล้าให้ช่างสลักศิลาตามตัวอักษร

     วันที่ ๒๑ ธันวาคม เวลาบ่าย ๔ โมง เสด็จทรงม้าพระที่นั่ง ไปทอดพระเนตรบึงทรงพระราชดำรัสว่า….นี่หรือบึง สวยงามดี ต่อไปจะเจริญ ต่อไปให้เรียกว่า จอมบึง

     วันที่ ๒๒ ธันวาคม ทรงม้าพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ และจากการสำรวจค้นคว้าทางโบราณคดี ได้พบหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่กำหนดอายุได้ไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ปี กระจัดกระจายอยู่โดยรอบทุ่งจอมบึง เริ่มต้นด้วยคนสมัยหินใหม่ตอนต้นพบขวานหินกะเทาะที่บ้านหนองบัว วังมะเดื่อ วัดจอมบึง หนองบ้านเก่า บ้านเกาะนอกและบ้านปากบึง ตำบลจอมบึง นอกจากนี้ที่เนินชัฏหนองค่า ริมทุ่งจอมบึง มีร่องรอยขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด ของผู้คนสมัยหินจนถึงสมัยโลหะตอนปลาย จนได้รับเอาวัฒนธรรมจากคูบัวและเขางู พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนสมัยทราวดี เมื่อประมาณพุทธศวรรษที่ ๑๓ – ๑๔

     ตำบลจอมบึงจึงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต้นประวัติศาสตร์ ทวารวดีจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ และปัจจุบัน ฯพณฯ จอมพลผิน ชุณหวัณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดป้ายกิ่งอำเภอจอมบึง เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗